วิถีการต่อต้านโดยคนรุ่นใหม่ในโลกออนไลน์: ขบวนการนักศึกษาไทยกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคโควิด

Read this article in English | อ่านบทความนี้ใน ภาษาอังกฤษ

Thailand Online Protest

นักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยและประชาชนออกมาชุมนุมแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2563               ภาพถ่ายโดย: ชลธิชา แจ้งเร็ว

ความหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยเริ่มเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงต้นปี 2563 จากการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ได้จุดไฟแห่งความไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 จนนำไปสู่กระแสกิจกรรมแฟลชม็อบ (Flash mob) ที่ดำเนินไปเป็นไฟลามทุ่งโดยกลุ่มนักศึกษาในหลายสถาบันทั่วประเทศ จากสถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่บันทึกเหตุการณ์ช่วงระหว่างวันที่ 21 กุมภาพันธ์จนถึง 14 มีนาคม 2563 พบว่า มีการจัดกิจกรรมชุมนุมในลักษณะแฟลชม็อบ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการอย่างน้อย 79 ครั้งที่เกิดในพื้นที่มหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศ

“คลื่นแห่งการชุมนุมทางการเมือง” ฉายให้เห็นความตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ จนอาจเรียกได้ว่าน่าจะเป็นปรากฏการณ์ “Youthquake” ครั้งใหม่อีกครั้งหนึ่งของการเมืองไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มผู้ที่สนับสนุนประชาธิปไตยเริ่มมีหวังว่ากระแสครั้งนี้อาจจะยกระดับไปสู่การชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาล – ก็เป็นได้

แต่แล้วการเกิดขึ้นของการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส หรือโควิด-19 ก็ทำให้หลายกิจกรรมต้องหยุดชะงักเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม รวมไปถึงการชุมนุมประท้วงในโลกออฟไลน์ด้วย

ปรากฏการณ์ new normal กลายเป็นเงื่อนไขใหม่ให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement) และภาคประชาสังคมไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้ทัน เมื่อรัฐบาลไทยเลือกใช้กฎหมาย “ท่าไม้ตาย” ด้วยการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้การชุมนุมสาธารณะกลายเป็นสิ่งต้องห้าม และการเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์จึงกลายเป็นทางเลือกที่สำคัญของการเคลื่อนไหวของนักศึกษา แต่ขณะเดียวกันมาตรการควบคุมกิจกรรมบนโลกออนไลน์ของรัฐบาลก็เข้มข้นขึ้นภายใต้เงื่อนไขการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดด้วยเช่นกัน ส่งผลต่อการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกบนโลกออนไลน์ และล่าสุดกับความคืบหน้าของการตั้งกองบัญชาการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือเรียกว่า “ตำรวจไซเบอร์” ซึ่งอาจกลายเป็น “ตำรวจทางความคิด” ที่คอยสอดส่องประชาชนบนโลกออนไลน์

หนึ่งในเครื่องมือของรัฐคือ การทำงานของ “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม” และการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งมักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดปากประชาชนที่มีความเห็นต่างจากรัฐ และใช้ควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด เช่นในเมื่อเดือนมีนาคม 2563 นายดนัย อุศมา ศิลปินชาวภูเก็ตซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมแจ้งข้อกล่าวหาว่ามีการกระทำความผิด โดยการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังจากที่เขาโพสต์ข้อความว่าตนเองได้เดินทางกลับจากประเทศสเปนเข้าสู่ประเทศไทยผ่านทางสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งไม่มีการคัดกรองตรวจผู้โดยสารที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิด-19

กระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาลกลายเป็นกระแสไฟที่โหมหนักต่อเนื่อง หลังจากเกิดเหตุการอุ้มหายของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยไทยในกัมพูชาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้ #SaveWanchalearm มีการรีทวีตกว่า 400,000 ครั้งภายหลังการหายตัวไปของเขา ขณะที่ผู้คนที่ออกมาร่วมการแสดงสัญลักษณ์เรียกร้องความเป็นธรรมในโลกออฟไลน์กลับได้รับหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

แต่ไม่ว่าต้องเผชิญความท้าทายในการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไร นั่นก็ไม่ได้ทำให้การแสดงออกความไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาลจะเงียบหายไปในยุคโควิค เมื่อการชุมนุมบนท้องถนนยังถูกจำกัด “การประท้วงออนไลน์” จึงส่งเสียงดังขึ้นและร้อนแรงกว่าที่เคยเป็นมา

# แฮชแท็กการเมือง: กระแส “แฟลชม็อบออนไลน์” ในทวิตภพ

ที่ผ่านมา หากเราพูดถึงการชุมนุม ก็มักจะเห็นภาพการมารวมตัวกันของผู้คนในสถานที่ต่างๆ แต่เมื่อเข้าสู่ยุคที่มีการแพร่ระบาดของโควิด รูปแบบการประท้วงแบบแฟลชม็อบจึงย้ายมาอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์แทน

ทวิตเตอร์ กลายเป็นพื้นที่สำคัญแห่งการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อสะท้อนความคิดเห็นที่มีต่อประเด็นทางการเมืองในวันที่พื้นที่สาธารณะอื่นถูกปิดกั้น ด้วยลักษณะเฉพาะตัวของแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ที่ผู้ใช้สามารถเป็นเจ้าของได้หลายแอคเค้าท์ ต้นทุนในการใช้ต่ำ และให้ความรู้สึกของการเป็น “นิรนาม” มากกว่าแพลตฟอร์มกระแสหลักอื่นในประเทศไทย ทำให้ตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการแสดงออกความคิดเห็นในประเด็นอ่อนไหวและสุ่มเสี่ยงที่จะพูดได้ในบริบทประเทศไทย

“ทวิตภพ” จึงกลายเป็นพื้นที่ใหม่ของการต่อสู้ทางความคิดที่เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ใช้งานได้แสดงความคิดเห็นในหลายประเด็นและบางประเด็นแทบจะไม่เคยได้ปรากฏหรือพูดถึงในพื้นที่สาธารณะอื่นมาก่อนในเมืองไทย

การใช้แฮชแท็ก # เป็นหนึ่งในฟังก์ชั่นสำคัญที่ถูกนำมาใช้สร้างพื้นที่การชุมนุมออนไลน์ เพราะช่วยให้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองและการรวมตัวของกลุ่มคนที่คิดเห็นคล้ายกันนั้นเป็นไปได้ง่ายขึ้น หนึ่งในข้อสังเกตที่พบคือ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคแห่งความขัดแย้งทางการเมืองไทยในรอบสิบปีที่ผ่านมา คือการพูดคุยประเด็นทางการเมืองกลายเป็นเรื่องกระแสหลักในปัจจุบัน กลุ่มคนรุ่นใหม่ออกมาแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น และแฮชแท็กว่าด้วยประเด็นการเมืองและความเป็นไม่ธรรมในสังคมพุ่งติดเทรนด์ยอดนิยมอันดับหนึ่งหลายเรื่องในช่วงปีที่ผ่านมา

หนึ่งในกระแสแฮชแท็กที่สำคัญในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คือ กระแส #nnevvy ที่ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่งของไทยและกลายเป็นกระแสดราม่าระหว่างประเทศไปแล้ว หลังจากนักแสดงหนุ่มไทย วชิรวิชญ์ ชีวอารี หรือ “ไบร์ท” จากซีรีส์เพราะเราคู่กัน 2gether The Series ที่กำลังโด่งดังในประเทศจีนได้รีทวีตโพสต์หนึ่ง พร้อมแคปชันที่เรียกฮ่องกงว่า “ประเทศ” ส่งผลให้แฟนคลับจีนรุมแสดงความคิดเห็นโจมตีไบร์ท แต่กระแสโต้กลับโดยชาวทวิตเตอร์ไทยได้ออกมาปกป้องและโต้เถียงกับคนจีน จนขยายไปสู่กลุ่มผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวฮ่องกงและไต้หวัน จนกลายเป็นวลี “พันธมิตรชานม” #MilkTeaAlliance #ชานมเข้มข้นกว่าเลือด ขยายประเด็นสู่การถกเถียงเรื่องการเมืองการปกครองภายในประเทศ

Reuters ระบุถึงประเด็นแฮชแท็กนี้ทำให้กลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยจับมือกันร่วมต่อต้านนักรบไซเบอร์ที่สนับสนุนรัฐบาลจีน ขณะที่ทาง “โจชัว หว่อง” นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชาวฮ่องกง โพสต์ภาพถ่ายซีรีย์ของนักแสดงหนุ่มพร้อมข้อความว่า ฮ่องกงยืนเคียงข้างเพื่อนชาวไทยผู้รักในเสรีภาพ ต่อต้านการรังแกจากจีน และตั้งความหวังถึงขั้นสร้างพันธมิตรในเอเชียเพื่อต่อต้านลัทธิเผด็จการ

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดและอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้จำกัดการจัดกิจกรรมต่างๆ และบรรยากาศการรวมตัวชุมนุมของนักศึกษาจึงได้ชะลอตัวไป ทำให้ทางฝั่งสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) เสนอไอเดียแคมเปญออนไลน์เชิญชวนคนไทยให้ร่วมกัน “ประท้วงจากบ้าน” ด้วยการแชร์ภาพหรือถือป้ายข้อความแสดงความรู้สึกไม่พอใจที่มีต่อการทำงานของรัฐบาล พร้อมติดแฮชแท็ก #MobFromHome จนแฮชแท็กนี้ขึ้นติดเทรนด์อันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ประเทศไทย

จากการชวนตั้งแฮชแท็กเพื่อสื่อสารถึงประะเด็นทางการเมืองและรวมไปถึงบางประเด็นที่อ่อนไหวได้กลายเป็นกระแสหลักเพื่อแสดงพลังการแสดงออกแบบรวมหมู่ (collective action) และบางแฮชแท็กในทวิตเตอร์ใด้กลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างร้อนแรงในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย

นอกจากการใช้ # ในการสร้างพื้นที่ชุมนุมออนไลน์แล้วนั้น อีกวิธีการหนึ่งที่สังเกตเห็นจากปรากฏการณ์ของคำว่า “ทัวร์ลง” มักจะถูกหยิบยกมาอธิบายรูปแบบกิจกรรมออนไลน์ที่เชิญชวนผู้ติดตามในแอคเค้าท์ของตน เข้าไปรุมแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์โพสต์นั้นๆ เพราะเมื่อฝ่ายรัฐบาลมีทีมหน่วยปฏิบัติการข่าวสาร หรือ Information Operation (IO) คอยจับตาและมุ่งแสดงความคิดเห็นโจมตีกลุ่มผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล ฝ่ายนักกิจกรรมประชาธิปไตยก็จำเป็นต้องพยายามหายุทธวิธีต่างๆ ในลักษณะ “ทัวร์ลง” เพื่อเรียกระดมแนวร่วมสาธารณะให้ไปช่วยกันโต้กลับด้วยข้อมูลในโพสต์นั้นๆ

นิสิตจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จัดกิจกรรมแฟลชม็อบแสดงออกทางการเมืองเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2563 ภาพถ่ายโดย: ชลธิชา แจ้งเร็ว

 

เมื่อ ‘ความเป็นส่วนตัว’ เป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ แพลตฟอร์มไหนจะตอบโจทย์ขบวนการเคลื่อนไหว

เมื่อทวิตเตอร์กลายเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมทางสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศไทย และได้มีความเคลื่อนไหวสำคัญเกิดขึ้นคือเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากการประกาศเปิดตัวบัญชีทางการของ “ทวิตเตอร์ประจำประเทศไทย” หรือ @TwitterThailand ด้วยข้อความ “สวัสดีครับ ประเทศไทย!” ต่อมาไม่นานเมื่อทวิตเตอร์ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายความเป็นส่วนตัวเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม เพื่อแจ้งเรื่องการแชร์ข้อมูลของผู้ใช้งานให้กับ “พาร์ทเนอร์” โดยจะมีการแชร์ข้อมูลระดับอุปกรณ์ของผู้ใช้ คือ IP address เพื่อปรับปรุงพัฒนาโฆษณาให้เหมาะกับผู้ใช้มากขึ้น

จากความเคลื่อนไหวดังกล่าว จึงตามมาด้วยกระแสต่อต้านผ่านแฮชแท็ก #ไม่เอาทวิตเตอร์ไทยแลนด์ (#NoTwitterThailand) ขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่ง เพราะชาวทวิตเตอร์ไทยได้ตั้งข้อสังเกตว่า นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งของการสอดส่องพฤติกรรมประชาชนและควบคุมเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนบนโลกออนไลน์โดยรัฐบาลไทย หลังจากนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ทวีตข้อความว่า ตนเพิ่งได้หารือกับผู้บริหารของทวิตเตอร์ประจำสิงคโปร์ ในประเด็นการต่อต้านข่าวปลอมและเนื้อหาที่มีความรุนแรง เป็นเหตุให้กลุ่มผู้ใช้งานส่วนหนึ่งแสดงความไม่ไว้ใจต่อการทำงานของทวิตเตอร์ที่อาจจะไม่ได้ให้หลักประกันทั้งเรื่อง “ความเป็นส่วนตัว” และ “ความปลอดภัย” แก่ผู้ใช้งานในประเทศไทยได้

ประเด็นดังกล่าวได้เป็นเหตุให้ผู้ใช้งานทวิตเตอร์บางกลุ่มเริ่มชักชวนกันย้ายไปใช้งาน “แพลตฟอร์มทางเลือก” ที่เป็นโอเพนซอร์ซอย่างเช่น “Minds” ที่เน้นเรื่องความเป็นส่วนตัวและและเสรีภาพบนโลกอินเตอร์เน็ต เช่นเดียวกับสฤณี อาชวานันทกุล ได้ทวีตข้อความ “ลาก่อนทวิตเตอร์ ไปเจอกันที่ Minds” ล่าสุดทางแพลตฟอร์ม Minds ได้ออกมาประกาศว่า ตอนนี้ได้รองรับการใช้งานภาษาไทยเรียบร้อยแล้ว

เมื่อเกิดกระแสความไม่ไว้ใจทวิตเตอร์ จึงชวนให้คิดต่อว่า แล้วรูปแบบของการเคลื่อนไหวทางสังคมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร เมื่อกลุ่มคนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของการใช้งานแพลตฟอร์ม ขณะเดียวกันเงื่อนไขของการขับเคลื่อนทางสังคมจำเป็นต้องอาศัยโซเชียลเน็ตเวิร์คที่มีผู้ใช้จำนวนมากพอจะส่งเสียงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น และคำถามที่เป็นโจทย์ใหญ่กว่านั้นคือ รูปแบบการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ หรือลักษณะการชุมนุมแบบไม่ยืดเยื้อ ทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์ จะนำไปสู่การขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมที่มีอยู่อย่างหลากหลายได้อย่างไร เพื่อผลักดันไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่พวกเราฝันไว้

อาจจะเป็นคำถามที่ตอบยากด้วยคนเพียงกลุ่มเดียวในสังคม แต่คำตอบที่เห็นชัดแล้วคือ “กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ตื่นตัวทางการเมืองแล้ว” ในฐานะพลังสำคัญที่น่าจับตามอง อยู่ที่ว่าหลังจากนี้ เราจะกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันความตื่นตัวในรูปแบบที่เป็นอยู่ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเชิงโครงสร้างโดยรวมให้สำเร็จได้อย่างไร

About the Author

ชลธิชา แจ้งเร็ว (ลูกเกด) ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) เธอเป็นนักกิจกรรมด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยเริ่มทำงานเพื่อส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมในประเทศไทยตั้งแต่ภายหลังการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 2557

The views expressed in this post do not necessarily reflect the views of the Coconet community, EngageMedia, APC, or their funders. Copyright of the article is held by the author(s) of each article. Check out our Contribution Guidelines for more information. Want to translate this piece to a different language? Contact us via this form. This publication is licensed with Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International.