ระวังไวรัสดิจิทัล: วิธีรักษาความปลอดภัยในโลกออนไลน์ 101

Digital Hygiene
This image is licensed under the Creative Commons Attribution 4.0 International license

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ได้เป็นวิกฤตสุขภาพที่กระทบทั่วโลกเพียงอย่างเดียว แต่ยังสร้างแรงสั่นสะเทือนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติของชีวิตผู้คนแบบไม่ทันตั้งตัว และยังไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้จะไปสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ แต่ในวิกฤตนี้ที่ทุกคนได้รับผลกระทบภายใต้เงื่อนไขที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม ทั้งรูปแบบการใช้ชีวิต ลักษณะการทำงาน การเดินทาง การเรียนหนังสือ ไปจนถึงการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นย่อมเปลี่ยนไป จนอาจกลายเป็น “ความปกติในรูปแบบใหม่” ที่พวกเราจำเป็นต้องปรับตัวให้ทัน

ในช่วงเวลานี้ บ่อยครั้งเรามักจะได้ยินคำเตือนให้ฝึกปฏิบัติเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยทางร่างกาย ควรลดปฏิบัติสัมพันธ์ทางกายภาพ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์มากขึ้น พึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ขณะที่มีคำเตือนให้ทุกคนใส่ใจสุขภาพทางกายและรักษาความสะอาดโดยทั่วไป แล้วเราดูแลความสะอาดและสุขภาวะ “ทางดิจิทัล” กันอย่างไรบ้าง

เช่นเดียวกับ “การล้างมือ” ให้ถูกต้อง การดูแลรักษาความปลอดภัยทางดิจิทัลก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะถือเป็นการสร้างด่านป้องกันแรกเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ และจำเป็นต้องหมั่นอัพเดตวิธีการป้องกันตัวเองอยู่เสมอ เพราะ “ไวรัสดิจิทัล” ไม่เคยหยุดพัฒนารูปแบบการโจมตีทางไซเบอร์ เช่นการแพร่ระบาดของภัยคุกคามรุ่นบุกเบิกอย่างการติดมัลแวร์ผ่านอีเมล การโจมตีแบบฟิชชิ่ง (Phishing) หรือการหลอกลวงเชิงจิตวิทยาทางสังคม (Social Engineering) ถูกแฮกบัญชีส่วนตัว การขโมยข้อมูลส่วนตัวด้วยสารพัดวิธีหลอกลวงใหม่ๆ

จากสถิติการรั่วไหลของข้อมูลสำคัญส่วนใหญ่มักเกิดจากความผิดพลาดของผู้ใช้งานเอง ยิ่งในยุควิกฤตเช่นนี้ที่ผู้ไม่หวังดีหรือแฮกเกอร์ต่างฉวยโอกาส ทำให้การโจมตีทางไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโควิดมีจำนวนเพิ่มขึ้น เช่น พบการสร้างเว็บไซต์แผนที่แสดงการติดเชื้อไวรัสโคโคน่า แต่แท้จริงแล้วหลอกให้ดาวน์โหลดมัลแวร์มาติดตั้งแทน

ควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพทางร่างกายและความปลอดภัยทางกายภาพ การหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องการรักษา “ความปลอดภัยทางดิจิทัล” จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในเงื่อนไขที่เราต้องย้ายสถานที่ทำงานหรือห้องประชุมมาอยู่ในโลกออนไลน์กันมากขึ้น และการเลือกใช้แอปพลิเคชันเพื่อติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นต่างเป็นเรื่องสำคัญที่ควรพิจารณา

หมั่นทำความสะอาดห้องทำงานออนไลน์: เช็คลิสต์ตรวจสุขภาพการใช้งานดิจิทัล 101

ก่อนจะไปถึงขั้นตอนการเลือกเครื่องมือหรือแอปพลิเคชันไหนที่เหมาะกับคุณ เรามาเริ่มตรวจ “สุขอนามัยทางดิจิทัล” หรือ “Digital Hygiene” กันก่อนว่า พฤติกรรมการใช้งานอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันของคุณมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ลองมาตรวจสุขภาพการใช้งานดิจิทัลไปพร้อมกัน ดังนี้

  • อย่ามองข้ามความสำคัญของรหัสผ่านที่ปลอดภัยและคาดเดายาก ถึงแม้จะมีความพยายามของบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งที่ต้องการผลักดันให้ก้าวไปสู่ “โลกอนาคตที่ไร้รหัสผ่าน” โดยหันไปใช้ระบบไบโอเมตริกซ์เพื่อยืนยันตัวตนแทน แต่การใส่รหัสผ่านก่อนเข้าทำกิจกรรมออนไลน์ใดใดก็จะยังไม่สาบสูญไปในอนาคตอันใกล้นี้ ฉะนั้นเรายังคงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการตั้งรหัสผ่านที่คาดเดาได้ยาก พยายามอย่าตั้งรหัสผ่านสำหรับทุกบริการและทุกอุปกรณ์เป็นรหัสเดียวกัน
    1. พิจารณาเปิดใช้ระบบการยืนยันตัวตนเพื่อเข้าสู่ระบบสองขั้นตอน (two-factor authentication) เสมือนใช้กุญแจล๊อคสองชั้นก่อนเปิดประตูเข้าสู่บ้าน เพื่อช่วยปกป้องการถูกแฮกบัญชีส่วนตัวและเพิ่มความปลอดภัยอีกระดับหากเกิดเหตุการณ์รหัสผ่านหลุด แนะนำให้เปิดใช้กับอีเมลและบัญชีโซเชียลมีเดียที่สำคัญ
    2. เลือกตั้งชื่อเครือข่าย Wi-Fi ที่ไม่ได้ระบุถึงตัวตนมากนัก และตั้งรหัสผ่านการเชื่อมต่อ Wi-Fi ที่คาดเดายาก เพื่อป้องกันผู้ไม่หวังดีเข้าถึงข้อมูลภายในเครือข่ายของเราได้
    3. อย่าลืมเปลี่ยนรหัสผ่านที่เป็นค่าตั้งต้นของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ให้เป็นรหัสที่มีความปลอดภัย
    4. เก็บรักษารหัสไว้ที่ปลอดภัย แนะให้ใช้โปรแกรมช่วยบริหารจัดการรหัสผ่านร่วมด้วย เช่น KeePassXC เพื่อเป็นตัวช่วยในการจดจำรหัสผ่านของคุณ

  • หมั่นอัพเดตระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์ของคอมพิวเตอร์ให้ทันสมัยอยู่เสมอ เมื่อมีเวอร์ชั่นใหม่ให้บริการยอมเสียเวลาสักนิดเพื่อคอยอัพเดตซอฟต์แวร์บ่อยๆ เพราะจะช่วยอุดช่องโหว่ด้านความปลอดภัยและแก้บั๊กใหม่ๆที่เพิ่งค้นพบ
    1. มั่นใจว่าได้เปิดโปรแกรม Anti-virus และเปิดใช้งาน firewalls เวอร์ชั่นล่าสุดแล้ว เพื่อป้องกันการบุกรุกจากภายนอกเครือข่าย
    2. หมั่นรีวิวและลบซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว

  • สำรองข้อมูลสำคัญของคุณเป็นประจำ ถ้าข้อมูลสำคัญหรือไฟล์ส่วนตัวสูญหายตลอดกาลย่อมเป็นฝันร้ายที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น รวมไปถึงภัยจากมัลแวร์เรียกค่าไถ่หรือ Ransomware ที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นแนะนำให้คุณสำรองข้อมูลอย่างน้อยหนึ่งชุด หรืออีกชุดเก็บไว้ในแบบออฟไลน์ก็จะยิ่งดี สำคัญคือต้องหมั่นสำรองข้อมูลเป็นประจำ
    1. เพิ่มความปลอดภัยอีกขึ้น แนะนำให้คุณทำการเข้ารหัส (encrypted) ข้อมูลสำคัญนั้นก่อนเพื่อปกป้องคนอื่นเข้าถึงไฟล์ข้อมูลนั้นได้ หนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยเข้ารหัสข้อมูล เช่น Cryptomator คำเตือน! โปรดอย่าลืมรหัสผ่านที่คุณตั้งไว้

  • เลือกเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตให้ปลอดภัย ถ้าเกิดคุณไม่ไว้ใจผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) ที่คุณกำลังใช้งานอยู่ ลองหาตัวช่วยอย่าง VPN (Virtual Private Network) มาใช้ ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายเสมือนส่วนตัวที่ป้องกันการเข้าถึงข้อมูลและความเป็นส่วนตัวให้มีความแน่นหนามากขึ้นเมื่อใช้งานอินเทอร์เน็ต VPN จะช่วยซ่อนกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตของคุณ (เช่น ประวัติเว็บไซต์ที่เราเข้าไปดู)
    1. คำเตือน! จำเป็นต้องเลือกใช้ผู้ให้บริการ VPN ที่น่าไว้ใจ หรืออาจจะสืบประวัติ อ่านรีวิวก่อนตัดสินใจเลือกใช้ VPN เบื้องต้นเราแนะนำให้ลองพิจารณาตัวเลือกแบบฟรีที่มีประวัติค่อนข้างดี เช่น RiseUp VPN, Proton VPN, หรือ TunnelBear (ใช้ฟรีไม่เกิน 500Mb ต่อเดือน).

Digital Hygiene Password
This image is licensed under the Creative Commons Attribution 4.0 International license

  • เลือกใช้เว็บเบราว์เซอร์ที่ปลอดภัย และพยายามใช้เว็บไชต์ที่ขึ้นด้วย https (สังเกตที่ URL มีรูปกุญแจตัวล็อกหรือไม่) แนะนำให้ใช้เบราว์เซอร์อย่าง Brave, Firefox, และ Chromium
    1. ถ้าอยากเพิ่มความเป็นส่วนตัวขึ้นแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้ search engine อย่าง DuckDuckGo แทน google และพยายามลบประวัติการท่องเว็บไชต์หรือแคชเป็นประจำ และอย่าลืมอัพเดตเบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นประจำ
    2. เพิ่มตัวช่วยเรื่องความปลอดภัยด้วยการติดตั้งส่วนขยาย (add-on/extension) ในเว็บเบราว์เซอร์ เช่น HTTPS Everywhere, Privacy Badger, NoScript และ uBlock Origin แต่ใช่ว่าบรรดาส่วนขยายอื่นๆจะมีความปลอดภัยเสมอไป ลองสำรวจส่วนขยายหรือ add-on ที่คุณติดตั้งไปแล้วแต่ไม่ได้ใช้งานแนะนำให้ลบทิ้งดีกว่า

  • ระวังการโจมตีแบบ “Phishing” คิดให้ดีก่อนคลิกลิงก์แปลกๆ Phishing เป็นเทคนิคการปลอมแปลงโดยใช้อีเมล หรือหน้าเว็บไซต์ปลอม เพราะแค่คลิกผิดเพียงครั้งเดียวอาจทำให้คุณตกหลุมพรางอันตรายได้ ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิค-19 เช่นนี้ ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะผู้ไม่หวังดีอาจแฝงตัวมาล่อหลอกให้คุณคลิกอะไรที่ดูน่าสนใจเกี่ยวกับการป้องกันไวรัสโควิด แต่อาจจะนำมาสู่การติดไวรัสในเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณแทน ถ้าไม่มั่นใจว่าเป็นลิงก์ปลอมแปลงหรือไม่ อาจลองตรวจสอบจาก Virustotal ก่อนจะเลือกคลิกเข้าไป
    1. แนะนำบทความเพิ่มของ Electronic Frontier Foundation “วิธีการหลีกเลี่ยงการโจมตีฟิชชิ่ง” หรือถ้าคุณสนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยทางดิจิทัลลองเข้าไปที่ “Digital Security Tools And Tactics” และ “Surveillance Self-Defense

  • พิจารณาใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัส (encryption) ถ้าต้องการส่งข้อความลับ ความกังวลใจของผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ห่วงว่า ข้อความที่ส่งผ่านอินเตอร์เน็ตจะถูกแอบอ่านหรือดักฟัง ดังนั้นการป้องกันขั้นพื้นฐานที่สุดคือ วิธีการเข้ารหัส (encryption) จินตนาการถึงการส่งข้อความผ่านระบบอินเตอร์เน็ตแบบธรรมดา ก็เหมือนเขียนข้อความลงบนโปสการ์ดที่ไม่ได้ใส่ซอง แต่ถ้าผ่านการเข้ารหัสก็เปรียบเหมือนใส่ซองให้โปสการ์ดก่อนนำส่งออก ดังนั้นถ้าคุณประเมินแล้วว่าข้อความที่คุณจะส่งผ่านอินเตอร์เน็ตมีความอ่อนไหวสูงหรือต้องการให้เป็นความลับระหว่างแค่คุณกับผู้รับข้อความ ควรพิจารณาเลือกใช้ระบบการเข้ารหัส โดยเฉพาะแบบตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง (end-to-end encryption) ก่อนส่งข้อความนั้น

  • พักจากโลกออนไลน์บ้าง: ลอง “digital detox” เป็นครั้งคราว ครั้งสุดท้ายที่คุณไม่ได้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตหรือห่างจากหน้าจอมือถือสักวันเมื่อไหร่ ดูเหมือนจะยิ่งยากขึ้นเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตฉุกเฉินเช่นนี้ที่เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นผ่านโลกออนไลน์แทน และไม่อยากพลาดอะไรที่เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์ ถึงแม้เทคโนโลยีในปัจจุบันจะช่วยอำนวยความสะดวกให้เราเชื่อมต่อกันง่ายขึ้น แต่ความเป็นจริงของชีวิตเมื่ออะไรที่มากเกินไปย่อมบั่นทอนชีวิตของเราให้เสียสมดุล เช่นเดียวกับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากโลกออนไลน์
    1. อย่าเพิ่งเข้าใจผิด เราไม่ได้แนะให้คุณเลิกใช้อินเตอร์เน็ต เพียงแต่การมีช่วงเวลาพักจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั่วคราวบ้างน่าจะช่วยรักษาความสมดุลของคุณภาพชีวิตในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ถึงแม้เราจะออกไปไหนข้างนอกได้น้อยลง แต่กิจกรรมออฟไลน์อื่นๆภายในบ้านก็ยังเป็นไปได้?

ทำงานที่บ้านอย่างปลอดภัย: เลือกแอปพลิเคชันไหนดี

หลังจากเราได้สำรวจแนวทางปฏิบัติเบื้องต้นเพื่อรักษาความปลอดภัยทางดิจิทัลส่วนบุคคลกันแล้ว แต่การสื่อสารหรือทำงานผ่านออนไลน์ย่อมต้องกระทำร่วมกับผู้อื่น คำถามต่อมาคือ แอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มไหนที่ปลอดภัยและใช้งานง่ายตอบโจทย์การทำงานร่วมกันได้ดีที่สุด

องค์กร Tactical Tech ตีพิมพ์บทความ “Technology is Stupid” เขียนถึงว่า “ความคิดเรื่องการพัฒนาเครื่องมือเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การทำงานของทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อนที่จะใช้งาน ยึดหลักความโปร่งใส เป็นธรรม และปกป้องความปลอดภัยผู้ใช้งานตลอดเวลา นั่นเป็นเพียงความฝันที่ยังไม่เป็นจริง”

ถึงแม้เราจะยังไม่มีเทคโนโลยี “ดีที่สุด” สามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการ ทั้งในแง่ปลอดภัยและใช้งานสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งาน แต่เราได้พยายามรวบรวมตัวเลือกที่มีอยู่ในขณะนี้ในระดับ “ดีพอใช้ได้” ในมุมเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวมานำเสนอให้คุณพิจารณาเป็นทางเลือกเมื่อต้องทำงานออนไลน์หรือประชุมทางไกล

Digital Hygiene Password Protection
This image is licensed under the Creative Commons Attribution 4.0 International license

  • แอปพลิเคชันทางเลือกถ้าคุณไม่อยากใช้ Google Docs สำหรับทำงานไฟล์เอกสารร่วมกันแบบเรียลไทม์
    1. CryptPad เป็นแอปพลิเคชันแบบโอเพ่นซอร์สที่มีการออกแบบโดยยึดหลักความเป็นส่วนตัว หรือ private-by-design โดยทุกคนสามารถลงทะเบียนฟรีและจะได้รับพื้นที่การใช้งาน 1GB
    2. Riseup Pads เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการทำงานออนไลน์ร่วมกับผู้อื่น โดยใช้เซิร์ฟเวอร์ของ etherpad การใช้งานของ Riseup จะไม่ได้บันทึก IP address ของผู้ใช้งาน และสามารถตั้งค่าระยะเวลาให้ข้อความหายหลังจากไม่มีการใช้งานภายในกี่วัน ถ้าอยากเพิ่มความปลอดภัยอีกชั้นแนะนำใช้ร่วมกับการเชื่อมต่อ Riseup VPN.

  • ทางเลือกสำหรับ Chat app เพื่อการสื่อสารออนไลน์ที่ปลอดภัย
    1. Signal เป็นแอปพลิเคชันที่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนแนะนำให้ใช้ ทั้งฟรีและเป็นแบบโอเพ่นซอร์ส จุดเด่นคือมีการเข้ารหัส end-to-end เน้นนโยบายรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้ และไม่ได้ขึ้นตรงกับองค์กรของรัฐบาลหรือบริษัทเอกชน คุณยังสามารถเลือกตั้งค่าระยะเวลาให้ข้อความหายได้ โดยต้องเริ่มลงทะเบียนจากเบอร์โทรศัพท์ก่อน แล้วสามารถใช้งานบน desktop ได้
    2. Wire เป็นอีก chat app ที่มีการเข้ารหัส end-to-end สามารถใช้ได้ทั้งแชทส่วนตัว แชทกลุ่ม โทรส่วนตัว โทรกลุ่ม รวมทั้งวิดีโอคอลล์ คุณสามารถเลือกลงทะเบียนได้ทั้งอีเมลและเบอร์โทรศัพท์ ถ้าคุณเลือกลงทะเบียนด้วยอีเมล แนะนำให้เลือกใช้ผู้ให้บริการอีเมลที่เน้นเรื่องความปลอดภัย เช่น Protonmail หรือ Tutanota
    3. Rocket ก็เป็นอีกทางเลือกที่เสนอการเข้ารหัส end-to-end และเป็นแบบโอเพ่นซอร์ส
    4. ถ้ายังตัดสินใจไม่ได้ ลองคลิกดูตารางเปรียบเทียบการรักษาความปลอดภัย

  • ทางเลือกการประชุมทางไกลที่มีความปลอดภัยกว่า  Zoom หรือ Skype
    1. Jitsi Meet เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นแบบโอเพ่นซอร์ส ใช้ง่าย ฟรี และไม่จำเป็นต้องลงทะเบียน คุณอาจจะเลือกใช้งานจากเซิร์ฟเวอร์ของ Jitsi เอง หรือถ้าองค์กรของคุณมีเซิร์ฟเวอร์เป็นตัวเองก็สามารถใช้ Jitsi บนเซิร์ฟเวอร์ของคุณเองได้ อีกทางเลือกคือใช้จากเซิร์ฟเวอร์อื่นที่น่าไว้ใจ เช่น Greenhost หรือ Collective Tools แต่ต้องบอกก่อนว่า Jitsi Meet ใช้การเข้ารหัส end-to-end เฉพาะการสื่อสารระหว่างสองบุคคล ไม่ได้รวมถึงการสื่อสารแบบกลุ่ม แต่คุณยังสามารถใช้ Jitsi meet ได้เพื่อประชุมทางไกลถ้าคุณไว้ใจเจ้าของเซิร์ฟเวอร์นั้นๆ รวมถึงฟีเจอร์อื่นๆที่น่าสนใจ เช่น ให้คุณยังสามารถดีดผู้เข้าร่วมที่ไม่ได้รับเชิญออกจากห้องประชุมได้ แนะเพิ่มเติมให้ตั้งชื่อห้องประชุมที่ไม่น่าจะซ้ำกับผู้อื่นได้ง่าย หรืออาจจะตั้งรหัสผ่านให้เฉพาะผู้ที่ทราบรหัสผ่านเข้าร่วมประชุมได้
    2. Talky เป็นทางเลือกสำหรับการสื่อสารที่ปลอดภัยแบบการเข้ารหัสต้นทางถึงปลายทาง แชร์หน้าจอได้ แต่จำกัดการสื่อสารได้ไม่เกิน 6 คน
    3. Wire มีทางเลือกให้ใช้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ได้อย่างปลอดภัย แต่ต้องสมัครแบบจ่ายค่าบริการ
    4. Mumble ถ้าคุณต้องการประชุมแค่การสนทนาผ่านเสียง ไม่จำเป็นเปิดวิดีโอ นี่ก็เป็นทางเลือกที่สนใจทั้งฟรี โอเพ่นซอร์ส และคุณภาพเสียงค่อนข้างใช้ได้ดี ถ้าใครเป็นคอเล่นเกมส์ออนไลน์อาจจะเคยใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อสื่อสารกับเพื่อน

  • ทางเลือกเมื่อต้องการแชร์ไฟล์กับคนอื่นให้ปลอดภัย
    1. Send.firefox.com สามารถส่งไฟล์ที่เข้ารหัสให้คนอื่นและลิงค์นั้นจะหมดอายุลงอัตโนมัติ หรืออาจจะเลือกใช้รหัสผ่านเพิ่มความปลอดภัยอีกขั้น
    2. Share.riseup.net อีกหนึ่งทางเลือกที่ค่อนข้างปลอดภัยในการเลือกส่งไฟล์สำคัญให้คนอื่น
    3. OnionShare.org ทางเลือกที่ให้คุณส่งไฟล์แบบเป็นนิรนามผ่านเครือข่ายของ Tor

การชั่งน้ำหนักระหว่าง “ความปลอดภัย” กับ “ความสะดวกใช้งาน” เป็นการตัดสินใจของคุณ

เมื่อใดมีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต เมื่อนั้นย่อมมีความเสี่ยงเสมอ เพราะเราต่างทิ้งรอยเท้าดิจิทัลให้ถูกสอดส่องติดตามบนโลกออนไลน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ข้อมูลส่วนตัวของเราที่ดำรงอยู่ในโลกออนไลน์ไม่ได้เป็นการควบคุมของเราแต่เพียงผู้เดียว แม้จะไม่มีทางปลอดภัยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เมื่อออนไลน์ แต่สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือการหาวิธีลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นของแต่ละคนให้น้อยที่สุด

ก่อนจะเลือกใช้บริการของแอปฯ สิ่งสำคัญเบื้องต้นคือรีวิวแนวนโยบายปกป้องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ศึกษาเงื่อนไขการให้บริการของแต่ละแพลตฟอร์ม รวมถึงเทคโนโลยีที่นำใช้จะมีความปลอดภัยแค่ไหน อย่าเพิ่งปักใจเชื่อว่า บริษัทที่ขายไอเดียเรื่องการใช้เทคโนโลยีเข้ารหัส (encryption) อาจจะไม่ได้ใช้มาตรฐานเดียวกัน อย่างในกรณีของ Zoom ที่กำลังเป็นนิยมใช้การประชุมออนไลน์ เพราะสะดวกใช้งานง่ายเมื่อเทียบกับตัวเลือกอื่นๆ แต่ก็พบช่องโหว่ด้านความปลอดภัยของผู้ใช้งาน และยังไม่ได้ใช้การเข้ารหัสแบบ end-to-end อย่างที่บริษัทโฆษณาไว้

ท้ายที่สุดแล้ว การรักษาความปลอดภัยทางดิจิทัลเป็นเรื่องการตัดสินใจส่วนบุคคล การเลือกใช้เครื่องมือหรือแอปพลิเคชันไหนก็ไม่มีสูตรสำเร็จเดียวสำหรับทุกคน แต่ขึ้นอยู่ที่ระดับการประเมินความเสี่ยง ความต้องการ และความจำเป็นของแต่ละคน แต่ละองค์กร การยอมรับในเงื่อนไขการใช้บริการของบริษัทนั้น เป็นอำนาจการตัดสินใจของคุณที่จะเลือกหรือไม่เลือกใช้เทคโนโลยีแบบไหน

ถ้าคุณมีคำแนะนำหรืออยากแบ่งปันประสบการณ์ทำงานจากที่บ้านอย่างไรให้ปลอดภัย ส่งมาคุยกันได้กับทีม EngageMedia และทางเราจะพยายามอัพเดตบทความนี้เพิ่มเติมถ้ามีข้อเสนอเรื่องความปลอดภัยใหม่เกิดขึ้น

Digital Hygiene
This image is licensed under the Pixabay License
เกี่ยวกับผู้เขียน

ดาริกา บำรุงโชค ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งผู้จัดการโครงการสิทธิดิจิทัลขององค์กร EngageMedia ประจำประเทศไทย เธอดูแลโครงการเกี่ยวกับสิทธิดิจิทัลและความปลอดภัยทางดิจิทัลในประเทศไทยและกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง มีความสนใจเป็นพิเศษในประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีกับสิทธิมนุษยชน